บทบาทความรับผิดชอบในชีวิตราชการ ของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจึงมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่าง ๆ มากมาย ในเรื่องบทบาท การเป็นขุนนางผู้ซื่อสัตย์จงรักภักดีและรักษาความยุติธรรมอันแน่วแน่ จนเซอร์จอห์น เบาริ่งบันทึกไว้ว่า "เป็นคนมีความรู้สุขุมดีกว่าผู้ใดที่พวกเราได้พบ มีกิริยามรรยาทละมุนละม่อมเป็นผู้ดี พูดจาก็เหมาะสม พูดอย่างง่าย ๆ ถ้อยคำของเขาสมกับเป็นผู้ที่รักชาติอย่างยิ่ง"[15] กับฐานะผู้สำเร็จราชการและพระเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงพระเยาว์ ก็เป็นของธรรมดาที่โต้แย้งกันบ้าง แต่ก็ผ่านไปโดยเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตาม 18 ปีหลังจากที่มีพระราชอำนาจเต็มที่ รัชกาลที่ 5 จำต้องทรงรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับผู้สำเร็จราชการนั้น บางเวลาก็ลำบากอยู่บ้าง[16]

สำหรับบทบาทความรับผิดชอบในชีวิตราชการ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

บทบาทก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การให้ความอุปถัมภ์ชาวต่างประเทศ

แถวหน้า : กรมหลวงวงศาธิราชสนิท, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์, Eulenbourg ราชทูตปรัสเซีย
แถวหลัง : เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุญยรัตพันธุ์), ไม่ทราบนาม

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นคน “หัวก้าวหน้า” รวมทั้ง ชอบคบหาสมาคมกับชาวต่างประเทศและรับความเจริญมาจากชาติตะวันตก[17] ท่านจึงมองเห็นถึงความสำคัญของวิชาความรู้ วิทยาการ และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เช่น การแพทย์ การพิมพ์ และการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยของหมอสอนศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะมิชชันนารีชาวอเมริกันนั้นเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ แต่คนเหล่านี้มักถูกรังเกียจจากเจ้านายและขุนนางหัวเก่า จึงมักได้รับความยากลำบากในการหาที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน และการทำงาน ท่านได้ให้ความอุปการะอำนวยความสะดวกแก่หมอสอนศาสนาเหล่านี้ และคอยติดต่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ดังลักษณะที่เรียกกันในปัจจุบัน ว่า “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งท่านหมั่นเพียรเรียนรู้วิชาการตะวันตกกับชาวต่างประเทศมาตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่ม ทำให้ท่านสามารถต่อ "เรือกำปั่น" ได้เอง และนับเป็นนายช่างสยามคนแรกที่สามารถต่อเรือแบบฝรั่งได้[6]

การติดต่อกับต่างประเทศ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีบทบาทสำคัญในการติดต่อและต้อนรับชาวต่างประเทศและคณะทูต ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปรับคณะทูตนำโดยเซอร์จอห์น เบาริงที่ปากน้ำ นำคณะทูตเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2398 และร่วมเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนสยาม 5 คน ได้แก่ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) และท่าน[18] เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาทางการค้าที่นาย “หันแตร บารนี” หรือเฮนรี เบอร์นีเข้ามาทำไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือ สนธิสัญญาเบอร์นี แม้การเจรจาจะมีความยุ่งยากติดขัดในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งพิกัดอัตราภาษี ด้วยการประสานงานของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ที่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวตะวันตก การเจรจาระหว่างทูตอังกฤษกับสมเด็จเจ้าพระยาอีกสองท่านในคณะผู้แทนฯ การเจรจาจึงสำเร็จลงด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อย มีการลงนามสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 ที่เรียกว่าสนธิสัญญาเบาริง หรือเรียกกันย่อ ๆ ในสมัยนั้นว่า “สัญญาเบาริง”[19]

การทหาร

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทำงานด้านการทหารมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีพระราชดำริให้จัดกรมทหารแบบยุโรปขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านควบคุมบังคับบัญชาจัดตั้งขึ้น เรียกว่า “ทหารอย่างยุโรป” โดยมีโรงทหารตั้งอยู่ที่บ้านพระยาศรีสุริยวงศ์และมีสนามฝึกหัดอยู่ข้างวัดบุปผาราม[7] ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้รับมอบหมายให้จัดเลกหมู่ทหารฝึกหัดยุทธวิธีแบบตะวันตกเพิ่มขึ้น

เมื่อครั้งเป็นหลวงสิทธิ์ นายเวรในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้ช่วยบิดาด้านทหารเรือ โดยที่เป็นผู้มีความสนใจเรียนรู้ในวิทยาการใหม่ๆ กับชาวตะวันตก จึงเรียนวิธีต่อกำปั่นแบบใหม่และเป็นนายช่างสยามที่สามารถต่อเรือฝรั่งแบบฝรั่งสำเร็จเป็นคนแรก ท่านได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้รับพระราชทานชื่อว่า "เรือแกล้วกลางสมุทร" ต่อมา ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ต่อเรือกลไฟเป็นเรือรบและเรือพาหนะของหลวงจำนวนหลายลำ เช่น เรือระบิลบัวแก้ว เรือแคลิโดเนีย[6] ท่านได้รับการยกย่องจากกองทัพเรือเป็นผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวงท่านแรกระหว่าง พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2412 พร้อมๆ กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า (พ.ศ. 2394 - พ.ศ. 2408) [20]

การอัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นครองราชย์

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) แต่งกายชุดนายทหารชั้นสูงอย่างเก่า

ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติต่างถึงแก่พิราลัย และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตลง ตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้โปรดแต่งตั้งผู้ใดที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นแทน ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมพรรษา 60 พรรษา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ยังทรงพระเยาว์ แต่พระองค์ก็ทรงแต่งตั้งขึ้นเป็น "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ" เมื่อปี พ.ศ. 2410 โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า[21] จากการที่บ้านเมืองสูญเสียบุคคลสำคัญต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลานี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงมีอำนาจยิ่งใหญ่ในราชการแผ่นดิน เพราะราชการทั้งปวงก็สิทธิ์ขาดอยู่แก่ท่านคนเดียว[22]

แม้จะยังไม่มีธรรมเนียมในการตั้งรัชทายาทขึ้นสืบราชบัลลังก์ แต่ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงฝึกเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ให้ปฏิบัติราชการอย่างกวดขันและใกล้ชิด ให้อยู่ปฏิบัติประจำพระองค์ ให้ทรงรับฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราโชบายในกิจการบ้านเมือง ทรงมักมอบหมายให้เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นผู้อัญเชิญพระกระแสรับสั่งแจ้งพระราชประสงค์และข้อหารือราชการไปยังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ทุกเช้า เพื่อเป็นการฝึกราชการและเพื่อให้มีความสนิทสนมกันและเพื่อได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งเป็นขุนนางผู้มีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้นต่อไปในภายหน้า

พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทั้งปวงทราบดีว่า หากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตในขณะที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์นั้น ผู้ที่จะได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คงไม่พ้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ซึ่งมีอำนาจมากเกินไปอาจเป็นอันตราย จึงกราบทูลว่าไม่ควรไว้วางพระราชหฤทัย แต่พระองค์ก็ไม่ทรงปักใจเชื่อ และปฏิบัติพระองค์เป็นปกติกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เสมอมา เพื่อมิให้กระทบกระเทือนจิตใจฝ่ายขุนนาง เนื่องจากท่านเหล่านั้นกุมอำนาจในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ อยู่[22]

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรและมีพระอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ก็ประชวรด้วยเช่นกัน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงเรียกประชุมเสนาบดีทั้งปวงให้เตรียมพร้อมไม่อยู่ในความประมาท สั่งการให้ตั้งกองทหารล้อมพระตำหนักที่ประทับของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์หรือกรมขุนพินิตประชานาถไว้ด้วย

เช้าวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัยเข้าเฝ้า และมีพระราชดำรัสว่า "ท่านทั้ง 3 กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้ามีผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้ง 3 จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด" พร้อมทั้งตรัสขอให้ผู้ใหญ่ทั้งสามท่านได้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองต่อไป ให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่เอาธุระรับฎีกาของราษฎรผู้มีทุกข์ร้อนดังที่พระองค์เคยปฏิบัติมา โดยไม่ทรงเอ่ยว่าจะให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์แทนพระองค์[23][24][25]

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ได้อัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็น "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5" และให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้มีอำนาจเต็ม โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในส่วนการพระราชนิเวศน์ รวมทั้งเชิญกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถึงแม้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จะตรัสว่า "ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุม ที่จะเลือกพระมหาอุปราช" อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้แต่งตั้งให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นดำรงตำแหน่งที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[23][24][25]

บทบาทเมื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การจัดระเบียบราชการและพระราชานุกิจ

การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อพระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ก่อนนั้นพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้วจึงเสด็จออกท้องพระโรงแล้วมีรับสั่งเอง แต่การทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในครั้งนี้อำนาจเด็จขาดทั้งหมดอยู่ที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จึงต้องคิดวิธีว่าราชการบ้านเมืองในหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการปฏิบัติสืบต่อไป ดังนั้น ในการจัดระเบียบราชการครั้งนี้จึงอาศัยแนวคิด 2 ประการ คือ ประการแรก การบังคับบัญชาข้าราชการบ้านเมืองนั้น ไม่ได้เอาอำนาจไว้แต่ในตัวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น แต่เป็นไปด้วยการปรึกษาหารือพร้อมเพรียงกันของข้าราชการผู้ชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารซึ่งจะมีการประชุมกัน ณ หอวรสภาภิรมย์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ประการที่สอง คือ การฝึกหัดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถว่าราชการบ้านเมืองได้เอง[26][27]

ในการจัดพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ (พระบรมวงศานุวงศ์อาวุโสสูงสุด) และกรมพระสุดารัตนราชประยูร (ผู้ดูแลอภิบาลเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์มาแต่ทรงพระเยาว์) ร่วมกันจัดระเบียบถวายด้านการศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี การออกว่าราชการ การเสด็จออกรับฎีกา การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพระจริยาวัตรอื่น ๆ เพื่อเตรียมพระองค์ให้ทรงพร้อมที่จะปกครองแผ่นดิน ในการนี้หากมีปัญหาใด ๆ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสิน

การก่อสร้างและการบำรุงการคมนาคม

คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นแม่กองในการขุด

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างประภาคารที่มีพระราชดำริมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยบริจาคทรัพย์ส่วนตัวและควบคุมการก่อสร้างด้วยตัวท่านเอง ประภาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2413 แล้วเสร็จในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 และท่านได้ยกประภาคารแห่งนี้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ประภาคารนี้มีชื่อในภาษาอังกฤษที่ตั้งโดยพวกฝรั่งว่า "รีเยนท์ไลท์เฮาส์" (Regent Lighthouse) ซึ่งมีความหมายว่า ประภาคารของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[28] และมีชื่อภาษาสยามว่า "ประภาคารสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา" หรือคนทั่วไปเรียกว่า “กระโจมไฟสันดอน” ประภาคารแห่งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการเดินเรือ แต่ได้ใช้มาจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 จึงได้เลิกใช้ เนื่องจากมีความชำรุดทรุดโทรมมาก[29]

นอกจากนี้ ท่านก็ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นแม่กองในการก่อสร้างและบูรณะสถานที่ต่าง ๆ เช่น พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี[30] พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี[31] พระอภิเนาว์นิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง[10] รวมทั้ง เป็นแม่กองในการขุดคลองและก่อสร้างถนนต่าง ๆ เพื่อการคมนาคม ได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก[32] ถนนเจริญกรุง ถนนตรง (ถนนพระรามที่ 4) และถนนสีลม[33] เป็นต้น

กฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณี

ได้มีการออกพระราชบัญญัติต่าง ๆ ให้การพิจารณาคดีในศาลรวดเร็วขึ้น เช่น กฎหมายลงทะเบียนที่ดิน การขายฝิ่น ฯลฯ โดยร่วมกับคณะเสนาบดีร่างถวายทรงทราบเพื่อลงพระปรมาภิไธย ด้านขนบธรรมเนียมประเพณีได้ริเริ่มประเพณีทำบุญวันเกิดเป็นครั้งแรกเมื่ออายุครบ 50 ปี คงเริ่มมาจากคำแนะนำของชาวจีน ต่อมา ประเพณีนี้ก็ได้แพร่หลายไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง[34]

การบำรุงวรรณกรรม การละครและดนตรี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีความสนใจและมีบทบาทในการทะนุบำรุงและเผยแพร่วรรณกรรม โดยเฉพาะงานวรรณกรรมจีนซึ่งเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากมีคติสอนใจมากโดยเฉพาะเรื่องการปกครอง เช่น สามก๊ก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มักจัดให้มีนักปราชญ์จีนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อแปลพงศาวดารจีนออกเป็นภาษาสยาม โดยงานที่ท่านจัดให้มีการแปลมีทั้งหมด 19 เรื่อง เช่น ไซจิ๋น ตั้งจิ๋น น่ำซ้อง ซ้องกั๋ง หนำอิดซือ และเม่งฮวดเชงฌ้อ[35]

นอกจากวรรณกรรมจีนแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ยังได้จัดพิมพ์วรรณกรรมสยาม เช่น พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเรื่อง อิเหนา และเรื่องอื่น ๆ เผยแพร่ให้สามัญชนทั่วไปได้อ่านกันมากขึ้น

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ชอบดูละครและฟังดนตรี ท่านจึงได้ส่งเสริมโดยการหาครูละครและดนตรีมาฝึกคณะละครของท่านจนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมัยนั้น ท่านได้ให้พระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร) หรือครูมีแขก แต่งเพลงขึ้นใหม่ ซึ่งปรับปรุงมาจากเพลงเต่ากินผักบุ้ง พร้อมทั้งสอดแทรกทำนองมอญเข้าไปในเพลง ทำให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น ท่านจึงโปรดปรานเพลงนี้มาก และตั้งชื่อเพลงนี้ว่า "พระอาทิตย์ชิงดวง” ตามสร้อยราชทินนามและตราสุริมณฑลซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งของท่าน[35]

การรักษาความสงบภายในประเทศ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ใช้ความสามารถและความเด็ดขาดระงับและตัดไฟต้นลมในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มักวุ่นวายขึ้นในช่วงผลัดแผ่นดินซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อคราวประมาณ พ.ศ. 2411 (ช่วงผลัดแผ่นดินจากรัชกาลที่ 4 ไปสู่รัชกาลที่ 5) ที่นายเฮนรี อะลาบัสเตอร์ ผู้รักษาการณ์กงสุลอังกฤษกล่าวว่า สยามไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาถึงขนาดลดธงชาติอังกฤษลงครึ่งเสาเป็นการแสดงว่าได้ตัดพระราชไมตรีกับสยาม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ความเฉียบแหลมและเด็ดขาดระงับเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้รวดเร็วไม่ลุกลามทำให้ต่างชาติใช้เป็นเหตุอ้างเพื่อเข้าแทรกแซง[26][27]

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3... http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3... http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/K3... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.watbuppha.com/somdej/somdej.doc http://www.watbuppha.com/somdej/somdej01.php http://www.watbuppha.com/somdej/somdej02.php http://www.watbuppha.com/somdej/somdej03.php